วัยเก๋าต้องระวัง! ความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีอาการแบบไหนบ้าง?

วัยเก๋าต้องระวัง! ความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีอาการแบบไหนบ้าง?

หากผู้สูงอายุที่บ้านของคุณ มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป มีอาการหลงลืม สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ไม่สามารถรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และใช้ภาษาผิดปกติ พฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญให้ระวังการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยข้อแตกต่างสำคัญระหว่างผู้ที่มีอาการขี้ลืมหรือหลงลืมตามวัย กับการเริ่มเข้าสู่กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีข้อสังเกตที่ต้องใช้ความใส่ใจและวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด

วัยเก๋าต้องระวัง! ความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีอาการแบบไหนบ้าง?

โรคอัลไซเมอร์ คืออะไร?

โรคอัลไซเมอร์ พบเป็นสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม มีอาการสูญเสียความทรงจำแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นตามลำดับ สัญญาณเริ่มแรก คือ การลืมเหตุการณ์ ลืมการสนทนาหรือกิจวัตรประจำวัน หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสีย การตัดสินใจ การวางแผน และการช่วยเหลือตนเอง ปัจจุบันมีวิทยาการในการตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และมีการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบสมอง อย่างไรก็ดีโดยในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการทำงานของสมองเป็นอย่างมากจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และอาจเกิดการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้

อาการของโรคอัลไซเมอร์

อาการของโรคอัลไซเมอร์จะดำเนินไปเรื่อยๆ กินเวลาหลายปี โดยจะแสดงอาการตามระยะเสื่อมของสมอง 3 ระยะ ดังนี้

อาการระยะแรก

อาการระยะแรกของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เริ่มด้วยความขี้หลงขี้ลืม ลืมเรื่องที่เพิ่งพูดไปหรือลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น ย้ำคิดย้ำทำ และถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ ลังเล ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ได้ รวมถึงมีความวิตกกังวลมากขึ้น ตื่นตกใจง่าย อาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง

อาการระยะปานกลาง

หากผู้ป่วยละเลยอาการเริ่มต้น คิดว่าเป็นเพียงความขี้ลืมปกติ ปัญหาความจำอาจแย่ลงจนไม่สามารถจำชื่อคนรู้จัก หรือไม่สามารถลำดับเครือญาติคนใกล้ชิดได้ว่าใครเป็นใคร รวมถึงอาจมีอาการสับสน ลืมวันเวลา นอนไม่หลับ และที่พบบ่อย คือหลงทาง ไม่สามารถหาทางกลับบ้านเองได้ ความรุนแรงของอาการระยะปานกลางอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือเกิดภาวะซึมเศร้า

อาการระยะสุดท้าย

เป็นระยะที่รุนแรง จนผู้ป่วยเกิดภาพหลอน เรียกร้องความสนใจ หรือก้าวร้าวขึ้น อาการทางกาย เช่น เคี้ยวอาหารและกลืนได้ลำบาก เคลื่อนไหวช้าลง หรือไม่สามารถเดินเองได้  ปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ด เนื่องจากกลั้นไม่อยู่  และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องง่ายๆ เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ ฯลฯ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

– โรคอัลไซเมอร์มักพบในช่วงวัยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป

มีงานวิจัยหนึ่งศึกษาพบว่า จากกลุ่มประชากรทั้งหมด 1,000 คน แต่ละปีในช่วงอายุ 65 ปี ถึง 74 ปี มีการพบผู้ป่วย 2 คน ในช่วงอายุ 75 ปี ถึง 84 ปี มีการพบผู้ป่วย 11 คน และในช่วง 85 ขึ้นไปมีการพบผู้ป่วย 37 คน สนับสนุนว่าอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค

– ประวัติครอบครัว และกรรมพันธุ์

กลไกทางพันธุกรรมในครอบครัวส่วนใหญ่ของโรคอัลไซเมอร์ยังคงไม่สามารถอธิบายได้ แต่หากมีประวัติบุคคลคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น ในปัจจุบันมีการค้นพบว่า หากมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง apolipoprotein E (APOE e4) ผิดปกติ จะส่งผลให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมนี้จะเกิดโรคทั้งหมด

– โรคดาวน์ซินโดรม

คนที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมจำนวนมากจะพบภาวะโรคอัลไซเมอร์ร่วมด้วย โดยมีอาการเร็วกว่าคนปกติทั่วไป 10 หรือ 20 ปี สาเหตุหลักเป็นผลจากพันธุกรรมของโครโมโซมคู่ที่ 21

– การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง

บุคคลที่มีการบาดเจ็บทางศีรษะอย่างรุนแรงจะมีความเสี่ยงต่อเป็นอัลไซเมอร์

– การนอนหลับที่ผิดปกติ

มีงานวิจัยพบว่า บุคคลที่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น การหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะมีความเสี่ยงสูงกับการเป็นโรคอัลไซเมอร์

– วิธีการดำเนินชีวิตและโรคร่วม

การขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวานประเภท 2 ภาวะความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอล โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

10 สัญญาณเตือน! คุณอาจเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์

วัยเก๋าต้องระวัง! ความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีอาการแบบไหนบ้าง?

1. มีการหลงลืมสิ่งที่รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ลืมในสิ่งที่เพิ่งผ่านเข้ามาเร็วๆ นี้ ลืมวันหรือเหตุการณ์สำคัญ ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องอาศัยสิ่งช่วยจำ เช่น สมุดจด หรือ บุคคลในครอบครัว คอยช่วยเหลือ

2. สูญเสียความสามารถในการวางแผนหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ เป็นขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง เช่น ลืมขั้นตอนการจ่ายเงินเมื่อไปธนาคาร หรือการขับรถ

3. รู้สึกยากลำบากในการทำงานที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงาน หรือเวลาพักผ่อน เช่น ไม่สามารถขับรถไปในสถานที่ที่ไปเป็นประจำ หรือ จำกฎกติกาของกีฬาที่เล่นประจำไม่ได้

4. รู้สึกสับสนกับเวลาหรือสถานที่ในขณะหนึ่ง เช่น ไม่รู้วันที่ ฤดูกาล และเวลา ลืมสถานที่ที่ตัวเองอยู่หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆอย่างไร

5. รู้สึกลำบากที่จะเข้าใจในภาพที่เห็นและความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่เห็นกับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือเข้าใจลำบากขึ้น กะระยะทางยากขึ้น วางของบนโต๊ะแต่มักปล่อยลงก่อนถึงโต๊ะ บอกสีต่างๆ ยากขึ้น

6. รู้สึกมีปัญหาในการค้นหาหรือใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน เช่น มักจะหยุดระหว่างกำลังสนทนาและไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อ หรืออาจพูดคำ ประโยคซ้ำๆ

7. ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรวางหรือเก็บไว้ และไม่สามารถย้อนนึกกลับไปได้ว่าวางไว้ที่ใด เช่น เก็บรองเท้าไว้ในตู้เย็น

8. ความสามารถในการตัดสินใจลดลงหรือสูญเสียไป เช่น ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเอง ไม่สระผม ไม่อาบน้ำ เมื่อจะไปงานสำคัญ

9. มีการแยกตัวออกจากงานที่ทำหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ปกติจะไปเล่นกีฬา พบปะเพื่อนทุกสัปดาห์ แต่วันหนึ่งกลับไม่ไปโดยไม่มีเหตุผลใดๆ

10. รู้สึกว่าอารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดูสับสน วิตกกังวล หวาดกลัว

หากพบสัญญาณเตือนข้อใดข้อหนึ่ง ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่เริ่มแรกและรับการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด รวมถึงสามารถวางแผนอนาคตให้ตัวเองได้

อย่างไรก็ตามไม่มีใครอยากเป็นโรคอัลไซเมอร์จึงควรดูแลตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ คือหมั่นบริหารสมอง เช่น อ่านหนังสือเป็นประจำ ดูแลสุขภาพจิตให้ดี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมด้วยวิตามินและสารอาหารอย่าง “น้ำมันปลาแซลมอน” (Salmon Oil) ที่มี Omaga-3 ครบถ้วนทั้ง DHA, EPA และ DPA ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำงานตามปกติของสมอง ระบบประสาท และหลอดเลือดหัวใจ 

สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุที่บ้านมีสัญญาณอาการดังกล่าว หรือข้อใดข้อหนึ่ง ควรเริ่มตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ เพราะโรคนี้หากรู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันภาวะอัลไซเมอร์ด้วยการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: 

https://www.nia.nih.gov/health/what-alzheimers-disease

https://www.nia.nih.gov/health/alzheimers-disease-fact-sheet

https://www.nia.nih.gov/health/what-are-signs-alzheimers-disease

https://www.alzheimers.org.uk/about-dementia/types-dementia/who-gets-alzheimers-disease

https://www.healthline.com/nutrition/salmon-oil-benefits

Share :

Share :

บทความที่คุณอาจสนใจ

รู้หรือไม่? ไขมันในเลือดสูง ต้องคุมอาหารแบบไหน?

ปัจจุบันคนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น หลายคนพยายามเลี่ยงอาหารจังก์ฟู้ดที่มีไขมันสูง  ซึ่งหากรับประทานบ่อยๆ จะทำให้มี  “คอเลสเตอรอลในเลือดสูง” ตามมา

Read More »
วัยเก๋าต้องระวัง! ความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีอาการแบบไหนบ้าง?

หากผู้สูงอายุที่บ้านของคุณ มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป มีอาการหลงลืม สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ไม่สามารถรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

Read More »
มาดูกันว่า ไขมันดี (HDL) กับ ไขมันเลว (LDL) ต่างกันยังไง?

หลายคนอาจสับสนว่า คอเลสเตอรอล ที่เราคุ้นเคย เป็นไขมันประเภทไหน? แล้วไขมันชนิดดี (HDL)

Read More »