ชีวิตมนุษย์ออฟฟิศวัย 30+ และ 50+ ส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน ทำให้ดวงตามีการใช้งานอย่างหนัก เพราะต้องจับจ้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา
ซึ่งโรคที่จะตามมา หากใช้สายตาไปกับจอมือถือ และเครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์นานเกินไป มีดังนี้
1. โรคซีวีเอส หรือ โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome)
เป็นอาการที่มักจะเกิดกับคนที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินสองชั่วโมงขึ้นไป ก็จะเริ่มมีอาการปวดตา แสบตา ตามัวและบ่อยครั้งมักจะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย พบได้ถึงร้อยละ 75 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์
สาเหตุ
โดยปกติแล้วเราทุกคนมักจะต้องกระพริบตาอยู่สม่ำเสมอเป็นการเกลี่ยน้ำตาให้ดวงตาของเราไม่แห้ง หากเราใช้สายตาในการจ้องมองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มักจะไม่ค่อยกระพริบตา จึงทำให้มีอาการแสบตา ตาแห้ง รู้สึกฝืดๆ ในตา
2. โรคจอประสาทตาเสื่อม
เป็นโรคที่มีความผิดปกติ เกิดขึ้นในบริเวณจุดศูนย์กลางรับภาพของจอประสาทตา มักจะพบได้มากในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จึงเรียกว่า Ageralsted macular degeneration (AMD) ในผู้ป่วยบางราย จะมีอาการเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกตเห็น และบางรายมีอาการขึ้นเกิดอย่างรวดเร็ว ทำให้สูญเสียการมองเห็นโดยเฉพาะภาพตรงกลาง แต่ยังสามารถมองเห็นทางด้านขอบข้างของภาพได้อยู่ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมนี้ยังคงสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่อาจจะทำกิจกรรมบางอย่างไม่ได้ เช่น อ่านหนังสือ เย็บผ้า เป็นต้น
สาเหตุ
โรคจอประสาทตาเสื่อมนี้ สามารถเกิดได้หลายปัจจัย เช่น คนที่มีสายตาสั้นมากๆ หรือคนที่เป็นโรคติดเชื้อบางอย่าง แต่สาเหตุส่วนใหญ่มักพบกลุ่มคนวัยผู้สูงอายุ เชื่อว่าเป็นการเสื่อมสภาพของร่างกาย หรือเรียกว่า Aging เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของโรคจอประสาทตาเสื่อม แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
3. โรคต้อหิน
โรคต้อหิน เป็นโรคของดวงตาที่พบได้บ่อย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากถึงขั้นตาบอดสนิท ถ้าหากไม่รักษา หรือรักษาไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ลานสายตา หรือความกว้างของการมองเห็นแคบเข้า จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็นไปทั้งหมดได้ ซึ่งการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินนั้นเป็นการสูญเสียถาวร ไม่สามารถแก้ไขให้คืนมาได้
สาเหตุ
โรคต้อหิน เป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงและทำลายของขั้วประสาทตา เกิดจากการที่มีความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเสื่อมของร่างกายเนื่องจากอายุมากขึ้น จะมีความเสื่อมของช่องระบายน้ำออกจากลูกตา ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตาไม่สามารถระบายได้ จนเกิดการคั่งภายใน ทำให้ความดันตาสูงขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ยาที่ใช้ อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด เป็นต้น
4. วุ้นตาเสื่อม น้ำวุ้นตาเสื่อม หรือ น้ำวุ้นตาตกตะกอน (Vitreous floater , Eye floater หรือ Floater)
ภาวะวุ้นตาเสื่อม เป็นได้เมื่อมีอายุที่มากขึ้น และอาจจะเสื่อมเร็วกว่าปกติในผู้ที่มีสายตาสั้นมาก หรือเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตา วุ้นตาที่เสื่อมจะเหลวลง หดตัว และขุ่นขึ้นเมื่อแสงผ่านวุ้นตาที่เสื่อม จะหักเหทำให้เป็นเงาดำๆจะเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ ลอยไปมาโดยเฉพาะเวลากลอกตา มองที่ผนังสีขาว หรือท้องฟ้า
สาเหตุ
เกิดจากอยู่หน้าจอทั้งวัน ไม่ว่าจะเล่นโทรศัพท์ อ่านหนังสือ ดูหนัง เล่นเกมส์ ต่างก็ทำผ่านหน้าจอกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะผ่านโทรศัพท์ ผ่านโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณสายตาเสียจากการมองจอ เช่น การมองตัวอักษรที่อยู่บนจอ มองแป้นพิมพ์ตัวอักษร ที่ต้องโฟกัสบ่อยๆ จึงทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานหนัก เป็นต้น
5 พฤติกรรมเสี่ยงของมนุษย์ออฟฟิศวัย 30+ และ 50+ ที่ทำร้ายดวงตาโดยไม่รู้ตัว
1. ติดจอ
แสงจ้าของจอ มีผลต่อสุขภาพเลนส์ตาและจอประสาทตา ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม รวมถึงโรคยอดนิยมของคนวัยทำงานอย่างคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome หรือ CVS)
2. ดื่มน้ำน้อย ทานอาหารไม่มีประโยชน์
ร่างกายเรานั้นประกอบด้วยน้ำถึง 70% เพราะฉะนั้นในแต่ละวัน เราจึงควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งการดื่มน้ำน้อยจะส่งผลโดยตรงต่อความชุ่มชื้นของดวงตา ตามมาด้วยอาการตาแห้ง ตาแดง เปลือกตาบวมช้ำได้ ส่วนการรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยกินผักผลไม้ รู้หรือไม่ว่าทำให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ขาดวิตามินซึ่งจำเป็นต่อการซ่อมแซมและดูแลดวงตาของเราได้
3. ดื่มหนัก-สูบจัด
การสูบบุหรี่ส่งผลต่อสุขภาพของดวงตาเช่นเดียวกัน ทั้งต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ม่านตาอักเสบ โรคตาแห้ง หรือแม้กระทั่งเบาหวานขึ้นตา
4. ไม่สวมแว่นกันแดด ปล่อยให้ดวงตารับสังสียูวีโดยตรง
การเดินกลางแจ้ง รวมถึงการขับรถโดยไม่สวมแว่นกันแดดนั้น เท่ากับดวงตาของเราปะทะกับรังสียูวีโดยตรง ทำให้เกิดทั้งต้อลมและต้อเนื้อได้
5. ไม่เคยตรวจสุขภาพตา
การตรวจสุขภาพตาถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ควรทำเป็นประจำทุกปี หรือตามที่จักษุแพทย์แนะนำ เพื่อให้รู้ถึงปัญหา ภาวะเสี่ยงของโรคตาบางชนิดที่ไม่แสดงอาการเจ็บป่วย ที่เราอาจเป็นได้โดยไม่แสดงอาการใดๆ มาก่อน เช่น โรคต้อหินเฉียบพลันก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาบอด ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถรักษาได้หลายวิธีเพื่อให้ดวงตาสามารถมองเห็นและอยู่คู่กับเราไปอีกนาน
ทำอย่างไรไม่ให้การงานทำร้ายดวงตา
1. จัดคอมพิวเตอร์ และแป้นพิมพ์ให้อยู่ในระดับและมีความห่างจากตัวที่พอดี สามารถใช้งานได้สบาย ๆ ไม่ต้องเหยียดหรืองอจนเกินไป
2. ปรับระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีมุมของระดับสายตาที่เหมาะสม โดยให้จอคว่ำลงประมาณ 15 องศา
ควรเว้นระยะห่างของคอมพิวเตอร์จนถึงระยะสายตาประมาณ 80-100 เซนติเมตร
3. ขนาดตัวหนังสือที่ใช้ต้องมีความสบายตา ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป
4. ปรับสีของตัวหนังสือ รวมถึงพื้นหลังให้เหมาะสม ไม่จ้าจนเกินไป เพื่อให้สามารถมองได้อย่างสบายตา
ปรับความสว่างในห้องทำงาน และอุปกรณ์ที่ใช้งานให้เหมาะสม เพื่อลดแสงสะท้อนจากหน้าจอหรือแสงที่ทำให้ภาพที่มองไม่คมชัด จนทำให้ต้องเพ่งสายตามากขึ้น
5. หมั่นกะพริบตาให้ถี่ขึ้น เพราะการจ้องหน้าจอนาน ๆ อาจทำให้เรากะพริบตาน้อยลงและอาจเกิดอาการตาแห้งได้
6. คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม มีความสัมพันธ์โดยตรงกับระยะเวลาที่เราอยู่หน้าจอ จึงควรมีการพักสายตาระหว่างการทำงาน ตามหลัก 20 : 20 : 20 คือ ทุก 20 นาที พักสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง
7. วางแก้วน้ำที่ใส่น้ำ 1 แก้วไว้ข้าง ๆ เพื่อให้มีน้ำระเหยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตามากขึ้น
เกร็ดน่ารู้ สำหรับมนุษย์ออฟฟิศวัย 30+ และ 50+
วิตามิน A มีความสำคัญในการมองเห็นของมนุษย์อย่างมาก โดยมีหน้าที่หลักเกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์รับภาพในชั้นจอประสาทตา และทำให้เซลล์เยื่อบุตาและกระจกตาอยู่ในภาวะปกติ ภาวะขาดวิตามิน A อาจส่งผลให้การมองเห็นในที่มืดลดลง ทำให้เกิดภาวะตาแห้งเรื้อรังหรือกระจกตาเสื่อมตามมาได้
ทั้งนี้ การเลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามิน A สูงจะสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดวิตามิน A ได้ เช่น ตำลึง ฟักทอง ข้าวโพด แครอท ผักโขม คะน้า พริกหยวก เป็นต้น ส่วนในผลไม้ จะพบใน มะละกอ แคนตาลูป มะม่วงสุก เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/computer-vision-syndrome?sso=y
https://www.eonvisioncare.com/blog/eye-care/common-causes-of-workplace-eye-injuries-and-disease
https://www.aao.org/eye-health/diseases/vitamin-deficiency
https://www.healthline.com/nutrition/vitamin-a-benefits#TOC_TITLE_HDR_5